วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2562

แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 ประเด็น IOC



แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 วันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจนโดยใช้ "น้ำ" เป็นสื่อในการสัมพันธไมตรี วันที่ 13 เมษายนของทุกปี นอกจากจะเป็นวันมหาสงกรานต์แล้ว รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นบุพการี ผู้อาวุโสหรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม ส่วนวันที่ 14 เมษายนของทุกปี รัฐบาลกำหนดให้เป็นวัน "วันครอบครัว" ที่ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัว จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความรักความอบอุ่น การได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา และทำกิจกรรมร่วมกัน
ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ครม. มีมติรับทราบ “แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562” ตามที่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ

การรณรงค์ในปีนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยมีห้วงเวลาการดำเนินการเป็น 3 ช่วง คือช่วงประชาสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 11 มีนาคม – 17 เมษายน 2562 ช่วงเตรียมความพร้อมและการรณรงค์ ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม – 10 เมษายน 2562 และช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2562 เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรอย่างปลอดภัย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562


ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้นำหลักเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงพื้นที่ของปัญหา ตามระบบการเตือนภัยของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 มาวิเคราะห์จากจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง (พ.ศ. 2559 – 2561) และกำหนดให้มีระดับของความเสี่ยง 4 ระดับ ดังนี้

สีแดง หมายถึง สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูงสุดโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล มากกว่าหรือเท่ากับ 2 ขึ้นไป

สีส้ม หมายถึง สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูงโดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ตั้งแต่ 1.00 – 1.99

สีเหลือง หมายถึง สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย โดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล ตั้งแต่ 0.01 – 0.99

สีเขียว หมายถึง สถานการณ์อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงน้อย โดยมีค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลเท่ากับ 0.00

ผลการประเมินความเสี่ยงของอำเภอตามหลักเกณฑ์ สถิติจำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง (พ.ศ. 2559 – 2561) ลำดับระดับความเสี่ยงช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่ามีอำเภอในระดับความเสี่ยงสีแดง จำนวน 29 อำเภอ อำเภอในระดับความเสี่ยงสีส้ม จำนวน 109 อำเภอ อำเภอในระดับความเสี่ยงสีเหลือง จำนวน 695 อำเภอและอำเภอในระดับความเสี่ยงสีเขียว จำนวน 45 อำเภอ

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 จำนวน 7 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน ประกอบด้วย

  • ด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง
  • ด้านสังคมและชุมชน
  • ด้านการสร้างการรับรู้และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน
  • การดำเนินการด้านมาตรการองค์กรของหน่วยงานภาครัฐ


2. มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม
3. มาตรการการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ
4. มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ
5. มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ
6. มาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว
7. มาตรการบริหารจัดการ

แนวทางการประชาสัมพันธ์

  • งดนำเสนอตัวเลขสถิติการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
  • สัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ เรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร การบังคับใช้กฎหมาย โครงการดื่มไม่ขับจับยึดรถ / ก.มหาดไทย เรื่องถึงการลดอุบัติทางถนนสายรอง / ก.สาธารณสุข เรื่องการเตรียมพร้อมดูแลประชาชนที่ประสบอุบัติ / ก.คมนาคม การอำนวยความสะดวกประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ทั้งทางบก น้ำ อากาศ โครงการตรวจเช็ครถฟรี เป็นต้น
  • สร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนในการใช้รถใช้ถนนร่วมกัน ความมีน้ำใจ รวมทั้งเมา ไม่ขับ


...

ดีเจ
กระบี่
www.yodkrabiradio.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น