วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

จังหวัดกระบี่ประกาศ "วสุธาปกาสัย" เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด พร้อมส่งเสริม 8 ลายเด่นประจำอำเภอ



กระบี่: วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุมสำคัญเพื่อค้นหาและประกาศลายผ้าอัตลักษณ์ประจำถิ่นระดับจังหวัด ภายใต้โครงการ "การสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ ผ้าประจำถิ่นและงานหัตถกรรมจังหวัดกระบี่" ณ ห้องประชุมปลายพระยา ศาลากลางจังหวัดกระบี่

การประชุมครั้งนี้มีคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นางศรินทิพย์ ศีลาเทวากูล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดกระบี่ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน พัฒนาการจังหวัด และอาจารย์ ปรวรรธน์ สวัสดีปิติ จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นชอบลายผ้าที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละอำเภอทั้ง 8 แห่งในจังหวัดกระบี่

โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการคัดเลือกลายผ้าอัตลักษณ์ประจำอำเภอ ซึ่งสะท้อนถึงอัตลักษณ์และเรื่องราวที่น่าสนใจของแต่ละท้องถิ่น ได้แก่

  • ลาย "บันทายธารา" ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอเมืองกระบี่
  • ลาย "ภูมิสมุทรนาวา" ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอเหนือคลอง
  • ลาย "รักอ่าวลึก" ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภออ่าวลึก
  • ลาย "คีรีมันตรา" ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอปลายพระยา
  • ลาย "เบญจาภูษาสวรรค์" ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอเขาพนม
  • ลาย "กะรังลันตา" ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอเกาะลันตา
  • ลาย "สุริยะสาคร" ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอคลองท่อม
  • ลาย "เศวตพาหน" ลายอัตลักษณ์ประจำอำเภอลำทับ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้ ลายผ้า "วสุธาปกาสัย" เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่ เพื่อส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัยและนำไปสู่การยกระดับเป็น Krabi Soft Power ในอนาคต

นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ได้ให้ความสำคัญกับการสืบสานและอนุรักษ์งานศิลป์ผ้าประจำถิ่นและงานหัตถกรรม จึงได้อนุมัติให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกระบี่ดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและพัฒนายกระดับคุณภาพมาตรฐานผ้าประจำถิ่นและงานหัตถกรรม เพิ่มช่องทางการตลาดและรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP นักออกแบบ และช่างตัดเย็บชุดผ้าไทย

"เป้าหมายสำคัญของเราคือการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ผ้าไทยให้สนุกและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นำไปสู่การเป็น Krabi Soft Power ที่เข้มแข็งต่อไป" ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่กล่าว พร้อมเสริมว่า จะมีการจัดการประกวดออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าและงานหัตถกรรมจากลายผ้าอัตลักษณ์ประจำถิ่น รวมถึงการจัดงานเทศกาลสืบสานอนุรักษ์งานศิลป์ผ้าประจำถิ่นและงานหัตถกรรมจังหวัดกระบี่ในลำดับต่อไป

สำหรับลายผ้า "วสุธาปกาสัย" ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่นั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากการนำเอา ดาบคู่ สัญลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัดกระบี่ มาผสานเข้ากับลวดลายที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของกระบี่ ไม่ว่าจะเป็นเกลียวคลื่น สายน้ำ ปะการัง ต้นปาล์มน้ำมัน และกาแฟ GI ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและความงดงามของจังหวัด

เช่นเดียวกับลายผ้าอัตลักษณ์ประจำอำเภอทั้ง 8 ลาย ที่ได้นำเอาศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติของแต่ละอำเภอมาถักทอเป็นลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากผู้เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจากนี้ จังหวัดกระบี่จะดำเนินการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการใช้และการสวมใส่ลายผ้าอัตลักษณ์ประจำอำเภอและลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดกระบี่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น